วันอังคาร, กรกฎาคม 08, 2551

การก่ออิฐมวลเบา

ที่มา : มติชนออนไลน์

วันที่ 04 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11012

คอลัมน์ ครบเครื่อง เรื่องรักษ์บ้าน

โดย ช่างอ้วน loves_homes@yahoo.co.th



*คุณบดิศร (กทม.) บอกว่า เพิ่งไปเดินงานสถาปนิกที่เมืองทองมา เห็นบู๊ธอิฐมวลเบา เจ้าหน้าที่ประจำบู๊ธบอกว่าติดตั้งง่าย เลยคิดว่าจะใช้อิฐมวลเบาปรับปรุงโรงรถเป็นห้องทำงาน ซึ่งถ้าการทำไม่ยากจนเกินไปอยากทำเอง ขอคำแนะนำด้วย


ตอบคุณบดิศร การที่จะก่อผนังด้วยอิฐมวลเบาเองนั้นจะว่าง่ายก็ไม่ง่ายเสียทีเดียว จะว่ายากก็ไม่ยากจนเกินไป แต่ต้องอาศัยว่ามีใจรักงานช่างมากหน่อย โดยขั้นตอนการทำงาน มีดังต่อไปนี้

1.ผสมปูนทรายทั่วไปสำหรับปรับระดับบล็อคชั้นแรกและผสมปูนก่ออิฐมวลเบาเพื่อประสานระหว่างบล็อค แล้วตักปูนทรายทั่วไปป้ายลงบนพื้นตามแนวที่จะก่อผนัง หนาประมาณ 3-4 เซนติเมตร แล้วเริ่มวางอิฐมวลเบาก้อนแรกลงไปบนปูนทราย ใช้ค้อนยางเคาะปรับแต่งให้ได้แนว-ระดับ โดยอาศัยแนวเชือกหรือสายเอ็นที่ขึงไว้แล้ว

2.ใช้เกรียงก่ออิฐมวลเบา (มีรูปทรงคล้ายกระบวย) ตามขนาดของอิฐ ตักปูนก่ออิฐมวลเบาปาดลงด้านข้างของก้อนแรก โดยลากจากด้านล่างขึ้นมาจนเต็มก้อน ความหนาของปูนก่อประมาณ 2-3 มิลลิเมตร และวางก้อนที่สองให้ชิดกับก้อนแรก ปรับแนวระดับด้วยค้อนยางและระดับน้ำ แล้วก่อต่อไปด้วยวิธีเดียวกันจนเสร็จแนวก่อแถวแรก

3.จากนั้นจึงเริ่มก่อแถวที่สอง โดยใช้เลื่อยตัดบล็อคครึ่งก้อน ทั้งนี้ การตัดก้อนอิฐมวลเบาให้ใช้เลื่อยมือหรือเลื่อยวงเดือนและควรใช้เหล็กฉากช่วยเพื่อการตัดที่ได้ฉาก เพื่อให้ได้แนวรอยต่อแนบสนิท แข็งแรง จากนั้น ปาดปูนก่ออิฐมวลเบาลงด้านบนของบล็อคแถวแรก แล้วจึงยกบล็อคแถวที่ 2 วางทับลงไป จากนั้นใช้ค้อนยางเคาะปรับระดับเช่นเดียวกัน กำหนดให้แนวรอยต่อก้อนเยื้องสลับกันอย่างน้อย 10 เซนติเมตร แล้วก่อแถวต่อไปด้วยวิธีเดียวกันจนแล้วเสร็จ

4.เมื่อก้อนบล็อคชนโครงสร้าง เช่น คานหรือเสา คสล.ให้ยึดผนังโดยใช้แผ่นเหล็ก (Metal Strap) ตอกยึดด้วยตะปูคอนกรีตทุกๆ 2 แถวของแนวก่อบล็อค ทั้งนี้ ให้ปาดปูนก่อระหว่างแนวรอยต่อวัสดุไว้ด้วย

5.แถวบนสุดของผนัง ให้เหลือช่องว่างใต้คานหรือพื้นประมาณ 2-3 เซนติเมตร แล้วอุดด้วยปูนทรายทั่วไปให้เต็ม กรณีโครงสร้างคานหรือพื้นของโรงรถมีการแอ่นตัวมาก ให้อุดด้วยแผ่นโฟมก่อน แล้วจึงอุดปูนทรายทั้งสองด้านครับ

จะเห็นว่าในการทำงานมีหลายขั้นตอน และต้องใช้อุปกรณ์หรือเครื่องมือหลายอย่างด้วยกัน (นอกเหนือจากอิฐมวลเบา) เช่น ปูนเทปรับระดับ, ปูนก่อสำเร็จรูป, ปูนฉาบละเอียด, เลื่อยลันดาขนาด 24 นิ้ว, เกรียงขัดมัน, เกรียงโบกปูน, ระดับน้ำ, ตลับเมตร, สายเอ็น เป็นต้น ซึ่งค่าใช้จ่ายก็ไม่ใช่น้อยๆ บางที การจ้างผู้รับเหมาอาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่าก็เป็นได้ครับ

คำถามต่อมาส่งมาจากคุณสายใจ (กทม.) ถามว่า น้ำยาทำความสะอาดห้องน้ำที่มีฤทธิ์เป็นกรด หรือด่าง มีผลต่อผิวหน้ากระเบื้องหรือไม่อย่างไร?

ตอบคุณสายใจ โดยปกติแล้วไม่น่าจะมีผลใดๆ ถ้าความเข้มข้นของน้ำยาไม่เกิน 3% เพราะกระเบื้องเซรามิคต้องผ่านการทดสอบความต้านทานต่อสารเคมี ซึ่งเป็นการทดสอบความทนทานของกระเบื้องต่อสารเคมีประเภทกรดและด่างที่ความเข้มข้นต่างๆ กันตามมาตรฐาน ISO 10545: 1995 (E) ว่าต้องสามารถทนกรดและด่างได้ โดยการแช่ทิ้งไว้ในกรด-ด่าง ที่มีความเข้มข้นไม่เกิน 3% จำนวน 4 วัน (สารเคมีที่มีฤทธิ์เป็น กรดหรือด่างชนิดต่างๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวันจะมีความเป็นกรดหรือด่าง ไม่เกิน 3%)

แต่ถ้าสารเคมีชนิดนั้นมีค่าความเป็นกรดหรือด่างเข้มข้นมากกว่า 3% ก็จะมีผลต่อการกัดกร่อนผิวของกระเบื้องได้ ซึ่งคงต้องสอบถามไปยังบริษัทผู้ผลิตน้ำยาทำความสะอาดนั้นก่อนนะครับ

หน้า 18

ไม่มีความคิดเห็น: